วัวชนใต้ดูยังไง ลักษณะของวัวชน นี้สามารถบ่งบอกถึงวิธีการชนของวัว แต่ละตัวได้
โดยการคัดเลือกเอาวัวที่ มีคุณลักษณะและเหมาะสมมาชนกันในสถานที่ที่กำหนด และมีกติกาชัดเจนจนถึงขั้นแพ้ชนะในที่สุด เป็นกีฬาที่ให้ทั้งความสนุกสนานตื่นเต้น และความประทับใจแก่ผู้ชม จึงเป็นที่นิยมของชาวภาคใต้ทั่วไป
วัวชนใต้ดูยังไง ตาม “ตำราดูลักษณะโค” ซึ่งนายพร้อม รัตโนภาศ เป็นผู้รวบรวมจากหนังสือบุด หรือสมุดข่อยที่พบในจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวถึงลักษณะของวัวทั่วไปและลักษณะของวัวชนไว้ว่า วัวหรือโค จะดีจะชั่วจะเป็นโภคทรัพย์สิริมงคล หรือ อัปรีย์จัญไร ท่านโบราณาจารย์กล่าวว่ามีลักษณะที่จะพึงสังเกตได้อยู่ ๓ ประการ คือ ขวัญ สี หรือชาติพันธุ์และเขา
ลักษณะของขวัญสำหรับวัวชนที่ดี มีดังนี้
- ขวัญตรงหัวใจ และตรงกระดูกสันหลังดีมาก
- ขวัญที่เท้าทั้งสี่หรือเพียง 2 เท้าเรียกว่า “จำตรวน” ดีมาก
- ขวัญที่อยู่บนจอมหนอกหรือโหนกที่เรียกว่า “จอมปราสาท” ดีมาก
- ขวัญที่อยู่ตรงโคนหูทั้งสองและติดกับขาดีมาก
- ขวัญที่อยู่ตรงกลางหลังและเวียนก้นหอยดีมาก
- ขวัญที่หน้าแข้งดี ถ้ามีทั้ง ๔ แข้ง ดีเลิศ
- ขวัญที่อยู่โคนกีบที่เรียกว่า “ขุมทอง” นั้นดีเลิศ
- ขวัญที่อยู่ใต้กีบที่เรียกว่า “ปราบทวีป” นั้นดีเลิศ
สีหรือชาติพันธุ์
สีวัวชนจะมีสีดำ หรือ สีน้ำตาลเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังมีวัวสีอื่น ๆ อีกที่จัดอยู่ในจำพวกสีดำ ได้แก่ “สีหมอก” หรือ “สีขี้เมฆ” คือสีเทาที่ค่อนไปทางขาว “สีเขียว” หรือ “กะเลียว” เป็นสีเขียวอมดำ เช่น วัวเขียวไฟแห่งอำเภอปากพนัง ในอดีตเป็นสีวัวที่หายากอย่างหนึ่ง ชาติวัวโหนดหัวแดงซึ่งเป็นวัวที่มีสีตัวคือสีแดง (น้ำตาลปนแดงหรือสีเหลือง) ที่หน้าผากหรือที่เรียกว่า “หน้าหัว” คอสีดำ กลางตัวแดงเหมือนสีที่หน้าผาก ส่วนที่ท่อนท้ายของลำตัวเป็นสีดำ วัวโหนดหัวแดงนี้ตามตำรากล่าวไว้ว่าชนะวัวบิณฑ์น้ำข้าววัวโหนดที่นิยมเป็นวัวชน ได้แก่ “โหนดร่องมด” คือร่องกลางหลังมีสีแดงหรือเหลืองดังทางเดินหรือแถวของมดคันไฟ “โหนดคอหม้อ” บางทีเรียกว่า “คอหม้อ” หรือ “คอดำ” คือหัวดำ คอดำ กลางตัวสีน้ำตาลไหม้ ส่วนท้ายของลำตัวสีดำ ที่เรียกว่า “คอหม้อ” เพราะที่คอสีดำเหมือนดินหม้อนั่นเอง “โหนดหัวดำ” สีตัวส่วนอื่น ๆ เหมือนโหนดหัวแดง เว้นเฉพาะที่หน้าผากเป็นสีดำสีโหนด เป็นสีของวัวสีหนึ่งที่มีในภาคใต้ โดยเรียกสีชนิดนี้จากการเทียบกับสีของลูกตาลโหนดคลุกนั่นเองอนึ่ง วัวสีโหนดตัวใดที่มีข้อเท้าขาวทั้งสี่เท้าบางคนก็จะเรียกว่า “สีลางสาด” อีกสีหนึ่งก็เรียกชาติวัวบิณฑ์น้ำข้าว เป็นวัวสีขาวดุจสีน้ำข้าวหรือสีสังข์วัวสีบิณฑ์น้ำข้าวนี้ท่านว่าชนะวัวสีแดงวัวสีขาวมีหลายชนิด แต่ที่นิยมเป็นวัวชนได้แก่ วัวสีบิณฑ์น้ำข้าวดังกล่าวแล้ว นอกจากนั้นก็มีสีขาวชนิดอื่น ๆ เช่น ขาวลางสาด คือสีขาวที่เหมือนสีเปลือกผลลางสาดทั้งตัว หรืออาจจะมีสีขาวเฉพาะตรงกลางแล้ว ส่วนที่หัว คอ และส่วนท้ายสีดำก็เรียก“ลางสาด” เช่นกันฉะนั้น “วัวสีลางสาด” หรือ “วัวลางสาด”
ลักษณะของเขา
เขาของวัวชนมักนิยมเขาใหญ่ คือโคนเขาใหญ่ ลำเขาใหญ่ และเขาเป็นมันแววปลายเขาแหลมตามธรรมชาติ เพราะถือว่าเขาเป็นอาวุธที่สำคัญที่สุด ต้องไม่หักได้ง่าย ๆ เป็นอันขาด เขาวัวชนเรียกกันว่า “ยอด” ซึ่งกล่าวกันว่า ถ้ายอดเสีย (เขาแตก เขาหัก) หรือเสียยอด (เขาสั้น ไม่แหลมคม ไม่เข้าเป้าของคู่ต่อสู้) แล้วจะไม่ชนะคู่ต่อสู้ ลักษณะของเขาวัวชนที่ดีมีดังนี้ ลักษณะของเขาวัวทั่วไปมีหลายแบบ เรียกชื่อต่างกันดังนี้
๑. เขารอม มีลักษณะโค้งเข้าหากันเป็นวงตอนกลาง ๆ เขาจะโค้งขึ้นบนเล็กน้อย ปลายเขางอต่ำลง
๒. เขาวง มีลักษณะโค้งเข้าหากันเป็นวง
๓. เขาโนรา มีลักษณะคล้ายเขาวง แต่เขายกขึ้นสูงจากหัวตั้งแต่โคนเขาจนถึงปลาย เขาเหมือนแขนของโนราเมื่อยามรำท่าเขาควาย
๔. เขากุบ มีลักษณะคล้ายเขารอมแต่ปลายเขาหุบงอเข้าหากันมากกว่าเขารอม
๕. เขาพรก มีลักษณะคล้ายเขากุบแต่เขาสั้นกว่าเขากุบปลายเขาหรือยอดหุบเข้าหากันมากกว่าเขากุบ
๖. เขากาง มีลักษณะเขาถ่างออกจากกัน
๗. เขาเบะ มีลักษณะเขาถ่างออกจากกันมากจนปลายเขาอยู่กันคนละด้าน
๘. เขาตรง หรือ ”เขาแทง” มีลักษณะเขาพุ่งตรงไปข้างหน้า
๙. เขาบิด มีลักษณะคล้ายเขาวงแต่ปลายเขาข้างใดข้างหนึ่งบิดขึ้นบนหรือลงต่ำเล็กน้อย
๑๐. เขาแจ๊ง มีลักษณะเขาเล็ก สั้น แต่ปลายเขาแหลม
๑๑. เขาหลั้ว มีลักษณะโคนเขาใหญ่แต่สั้น และปลายไม่แหลม วัวที่มีเขาชนิดนี้ บางท้องถิ่นเรียกว่า “วัวหัวหลั้ว”
๑๒. เขาหลุบ มีลักษณะเขาสั้นมากคล้าย ๆ เขาหลั้ว คือยาวไม่เกินนิ้วชี้
๑๓. เขาแห็ก คือมีลักษณะเขางามข้างหนึ่งอีกข้างหนึ่งจะเป็นเขาแบะหรือเขาห้อยลงมา
วัวชนใต้ดูยังไง สรุปวัวชนที่ดีจะลักษณะทั่ว ๆ ไปต้องประกอบด้วย
๑) คร่อมอกใหญ่ ให้หาคร่อมอกใหญ่ ๆ อย่างคร่อมอกเสือถึงจะดีมีดำลังมาก
๒) ท้องใหญ่ มีกำลังมากชนได้นานกว่าวัวท้องเล็ก
๓) กระดูกใหญ่ เช่น กระดูกเท้าใหญ่เหมือนควายจะดีมาก
๔) คอยาวใหญ่ จะเป็นวัวที่แข็งแรงและแก้เพลียงได้ดีกว่าและเร็วกว่าวัวคอสั้น แต่คอยาวเหมือนคอกวางก็ไม่ดี
๕) หนอกหรือโหนก รูปก้อนเส้าถึงจะดี ถ้าแบนเป็นใบพัดไม่ดี
๖) เขา ให้หาเขาใหญ่ ๆ ถึงจะดีและถ้ามีขนงอกปิดโคนเขาก็จะดีมาก
๗) หน้าหัวแคบ คือระหว่างเขาแคบถึงจะดี เพราะถ้าหน้าหัวแถบส่วนมากจะเขาใหญ่
๘) คิ้ว ให้หาคิ้วหนานัยน์ตาไม่ถลนถึงจะดี
๙) ตาเล็ก ดี
๑๐) ใบหูเล็ก ให้หาที่ใบหูเล็กเหมือนหูม้าถึงจะดีและถ้ามีขนในหูมากก็ยิ่งดี
๑๑) หน้าตาคมคายเกลี้ยงเกลา ถึงจะดี
๑๒) หน้าผาก หรือหน้าหัวถ้ามีขนมาก หรือขนรกถึงจะดี
๑๓) ข้อเท้า ให้เลือกหาข้อเท้าสั้น ๆ จะดีมาก ถ้าข้อเท้ายาวไม่ดี
๑๔) เล็บ ให้เลือกหาเล็บใหญ่ที่เรียกว่า “เล็บพรก” (เล็บคล้ายกะลามะพร้าวคว่ำ) ถึงจะดี เล็บยาว หรือเล็บตรงไม่ดี
๑๕) ให้เอาที่หางเล็กเรียวจะดีมาก ถ้าหางใหญ่ไม่ดี แต่โคนหางใหญ่ดี
๑๖) ขนหาง ให้หาขนหางเล็ก ๆ เหมือนเส้นด้าย เส้นไหมและถ้าขนหางบิดนิด ๆ จะดีมาก ขนหางยาวถึงน่องไม่ดี ขนหางหยาบ หรือขนหางเป็นพวงหงิกงอที่เรียกว่า “หางโพ่ย”ไม่ดี
๑๗) อัณฑะ ให้หาที่มีลูกอัณฑะเล็ก และปลายอัณฑะบิดนิด ๆ หรือยานตวัดไปข้างหน้าจะดีเลิศ ยิ่งถ้ามีลูกอัณฑะเพียงลูกเดียวก็ยิ่งดีเลิศ เรียกว่า “อ้ายหน่วย” หรือ “ทองแดง” เป็นวัวที่หายาก
๑๘) ลึงค์ ให้หาที่ลึงค์ยาว ๆ ใหญ่ ๆ ถึงจะดี ถ้าลำลึงค์ยาวตั้งแต่ลูกอัณฑะ จนถึงกลางท้องแสดงถึงการมีพลังมาก ถ้ามีขนที่ปากลำลึงค์ดกมาก แสดงถึงความมีใจสู้ไม่ค่อยยอมแพ้คู่ต่อสู้ง่าย ๆ
๑๙) ขน ให้หาที่ขนละเอียด เลี่ยน จึงจะดี ถ้าขนแห้ง คือไม่เป็นมันก็จะดีมาก (สำหรับข้อนี้ยกเว้นเฉพาะวัวนิลเพชรเท่านั้น เพราะวัวนิลเพชรจะมีขนดำเป็นมันหรือขนเปียก)
กีฬาวัวชน โดยการคัดเลือกเอาวัวที่มีคุณลักษณะเหมาะสม มาชนกันในสถานที่ที่กําหนด มีกติกาที่ชัดเจน จนถึงขั้นแพ้-ชนะ เป็นกีฬาที่ให้ความสนุกสนาน เร้าใจ ตื่นเต้น สร้างความประทับใจสถานที่ สนามวัวชนมีเนื้อที่กว้างประมาณ ๓-๑๐ ไร่ มักเป็นสนามดินเป็นรูปสี่เหลี่ยมหรือ วงกลมแล้วแต่สนามแต่ละแห่ง กลางสนามมีลังเวียนกั้นและมีคอกเล็ก ๆ มีประตูปิดเปิดให้วัวเข้า-ออก
วัวชน ไม่ได้เป็นเพียงการต่อสู้ของวัวสองตัว แต่แฝงไว้ด้วย ศาสตร์แห่งการเลี้ยงดู การฝึกฝน และการดูแลวัวอย่างประณีต วัวชนแต่ละตัวเปรียบเสมือนนักกีฬาที่ผ่านการเคี่ยวกรำ พร้อมลงสังเวียนประลองฝีมือ สร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ชม